ข้อมูลโครงการ

ความเป็นมา หลักการ และเหตุผล

ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติ ที่คนไทยใช้ในการสื่อสาร ทั้งภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นที่ปรากฏทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของผู้คนในสังคม ด้วยการถ่ายทอดในรูปแบบการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ที่มีศูนย์กลางในการถ่ายทอดภาษาไทย คือ บ้าน วัด โรงเรียนและชุมชน มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ถือเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีในการศึกษาเล่าเรียน แสวงหาความรู้ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ครูผู้สอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทางภาษาทั้งทางด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรายวิชาต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่มีศักยภาพเพื่อการประกอบอาชีพ ตลอดจนมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ของตนเอง ชี้นำตนเองและแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในสังคม ชุมชน ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

การอ่านเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยปรับและขยายประสบการณ์ของมนุษย์ และเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จอีกหลายด้าน ส่วนการเขียนนับทักษะเป็นการสื่อสารที่มีวิธีการที่ซับซ้อนกว่าทักษะอื่น เพราะผู้ที่สามารถฟัง พูดอ่าน ได้ดีจึงจะช่วยให้สามารถถ่ายทอดความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการออกมาทางการเขียนเพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจ ทักษะการเขียนจึงเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายที่คงทนถาวรเป็นหลักฐานที่ดีกว่าทักษะอื่น ดังนั้นกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตจำเป็นต้องจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาการอ่านและการเขียนที่ถูกต้อง

ปัจจุบันพบว่านักเรียนมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก ความบกพร่องดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากพัฒนาการทางด้านสมอง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ได้รับการเอาใจใส่ในการเรียนรู้อย่างถูกต้อง กอปรกับสภาพสังคมในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้นักเรียนเกิดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้เป็นจำนวนมาก

สาเหตุสำคัญของปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียนที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสังคมและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นการเคลื่อนตัวของกระแสโลกาภิวัตน์ นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการวางแผนและพัฒนาทักษะการสื่อสารของเยาวชน ดังเช่นสังคมไทยภาคใต้ในปัจจุบันที่กำลังประสบกับวิกฤตการณ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนทั้งในด้านการศึกษาและการใช้ชีวิตอย่างสูง สืบเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) เป็นต้นมา ที่มีนโยบายในการเร่งรัดการพัฒนาการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น และเน้นให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของสื่อสารมวลชนและทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยขาดการคัดกรองและการเลือกรับวัฒนธรรมที่ดีงาม ทำให้คุณธรรมและจริยธรรมของคนไทยลดลงโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลทำให้สถาบันครอบครัวสถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนามีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดูให้ความรู้ การสอนอ่าน สอนเขียน เพื่อปลูกพื้นฐานการเรียนรู้ลดน้อยลงนำไปสู่ค่านิยมและพฤติกรรมที่เน้นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลดลง มุ่งเน้นเพียงวัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่ฟุ้งเฟ้อ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาวะในการดำรงชีวิตตามมา นอกจากนี้เกิดสภาวะการหลงลืมอัตลักษณ์ของชุมชนวิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ขาดปฏิสัมพันธ์อันนำไปสู่ความอ่อนแรงในจิตสาธารณะและการมีส่วนร่วมของชุมชน และขาดการสร้างภูมิคุ้มกันด้านการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

จากเหตุผลดังกล่าวนี้คณะผู้วิจัยในฐานะหน่วยงานที่ผลิตบัณฑิตด้านการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาท้องถิ่นเล็งเห็นความสำคัญในการที่จะศึกษาพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมความรอบรู้เรื่องสุขภาวะ ผ่านการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนในท้องถิ่นภาคใต้ เป็นสื่อกลางในการพัฒนา ในรูปแบบการพัฒนาการเรียนรู้การมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย โรงเรียน และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เกิดผลลัพธ์ของการใช้ความรู้ ความคิด และการแลกเปลี่ยนของทุกฝ่ายมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ต่อไป

นวัตกรรมการเรียนรู้เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ทางความคิดและวิธีการเรียนรู้ที่มีพัฒนาการและการประยุกต์ใช้อย่างเป็นขั้นตอน เป็นการจัดการความรู้เพื่อสร้างชุดความรู้ใหม่ที่สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมด้านการดูแลสุขภาวะและการอ่านออกเขียนได้ ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงนโยบายทางสังคมระดับชุมชนจังหวัดและประเทศที่จะต้องสร้างให้ชุมชนจะมีความตระหนักการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างสมดุลยั่งยืน

บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีต่อกระบวนการพัฒนาการอ่านออก เขียนได้ของเยาวชนในท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ด้วยวิสัยทัศน์ การเป็นมหาวิทยาลัยพลังแผ่นดิน ที่ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่10 ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 9 เรื่องการศึกษา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 คือ การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและในชุมชน การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกล และอาชีวศึกษาบางส่วน ควรได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน สพฐ. สอศ.และ สกอ. การศึกษาแบบทวิภาคีโดยร่วมกับภาคเอกชน ส่งผลให้เด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการฝึกงานในโรงเรียน และสกอ. โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลในการอบรมพัฒนาครู และจัดนักศึกษาฝึกสอน เพื่อที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างเยาวชนเป็นคนดี มีองค์ความรู้ศีลธรรม จริยธรรม มารยาท วินัย และวัฒนธรรม พร้อมทั้งพัฒนาการศึกษาควรข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับชุมชน วัด โรงเรียน เพื่อให้ชุมชนช่วยดูแลทุกระดับการศึกษา

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีนโยบายให้คณะครุศาสตร์จัดการศึกษาที่มีระบบ เพื่อผลิตนักศึกษาวิชาชีพครูที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปสู่ความเป็นพลเมืองที่พร้อมสมบูรณ์ สามารถดำรงตนในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข ด้วยการนำกระบวนการ เทคนิค และองค์ความรู้ที่ทันสมัยถ่ายทอดสู่โรงเรียนและชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งหวังผลการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายใน และองค์กรภายนอกมหาวิทยาลัยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพแก่ชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเรียนรู้และพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน พัฒนางานและให้บริการวิชาการ เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่นโดยบูรณาการกับการเรียนการสอนและวิจัย ตลอดจนสนองงานตามโครงการพระราชดำริเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

นโยบายของผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีมีระบบและกลไกในการพัฒนาท้องถิ่นโดยกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ประยุกต์จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการบริหารงานมหาวิทยาลัย และสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเพื่อให้เป็นไปตามนัยแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏที่แท้จริงดังความ ต่อไปนี้

“มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏชั้นนำที่น้อมนำพระราชปณิธานและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นต้นแบบในการประกอบพันธกิจสู่การเป็นพลังทางปัญญาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมภายใต้การให้โอกาสกับทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”

 หลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย  คณะครุศาสตร์ เป็นหน่วยหนึ่งที่ได้ขานรับนโยบายของมหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดนโยบายของหลักสูตรในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของโรงเรียนเครือข่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ด้วยพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการอ่านออก เขียนได้ผ่านทางการส่งเสริมให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูจัดการเรียนการสอนภาษาไทยควบคู่กับการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อแก้ปัญหาให้นักเรียนทุกคนสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งดำเนินการพัฒนาครูพี่เลี้ยงและครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย   บูรณาการเรื่องการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ด้วยใช้สื่อนวัตกรรม การจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน  เพิ่มเวลารู้รวมถึงมีการถอดบทเรียนความสำเร็จในการสอนภาษาไทยเทคนิคการสอนภาษาไทยและวางแผนในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในปีการศึกษาต่อไป พร้อมทั้งการนิเทศกำกับติดตามพัฒนาการและทดสอบอ่านเขียนของนักเรียนที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง